เมื่อไทยตั้งเป้า สู่ "ความเป็นกลางทางคาร์บอน" ปี 2050 และเดินหน้าสู่ Net Zero ปี 2065 กลายเป็นความท้าทาย ท่ามกลางความกังวลทั่วโลกต่อความล้มเหลวในการแก้ปัญหา "Climate Change" จึงจำเป็นต้องอาศัยการร่วมมือทุกภาคส่วน เพื่อให้ไทยบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้
เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 65 ดร.พิรุณ ลัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวในช่วงเสวนา "เสริมพลังไทยสู่ความยั่งยืนด้านสภาพภูมิอากาศ (Powering Thailand for Climate Resilience and Sustainability)" หัวข้อ เส้นทางสู่ความยั่งยืนด้านสภาพภูมิอากาศ (Road to Net Zero Emission and Climate-Resilient Thailand) ในการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย (TCAC Opening Plenary) ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ถึงแนวทางของประเทศไทย และกลไกที่จะไปสู่เป้าหมายในอีก 28 ปีข้างหน้า หรือปี 2050 ที่จะเดินหน้าสู่ ความเป็นกลางทางคาร์บอน และสู่การปล่อย คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2065 หรือในอีก 43 ปีข้างหน้า
ดร.พิรุณ มองว่า เส้นทางสู่การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ต้องบอกว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ทุกภาคส่วนต้องมามีส่วนร่วม แต่มีทางออก เราสามารถเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสสู่ความยั่งยืนของประเทศไทยได้ ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนต้องร่วมมือกันแก้ปัญหา คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) มีการวิจัย พบว่า หลังจากมีการปฏิวัติอุตสาหกรรมใน ปี 1850 ตะวันตกมีการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงประเทศกำลังพัฒนา ขณะนี้เราปล่อยคาร์บอนไปแล้วกว่า 2,500 กิ๊กกะตัน เหลือที่สามารถปล่อยได้แค่ 500 กิ๊กกะตันเท่านั้น ภายในปี 2050 ที่ทุกประเทศทั่วโลกจะต้องควบคุมให้ได้
"ความสำคัญ อยู่ที่ภายใน 500 กิ๊กกะตัน นี้ ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นไม่เกิน 1.5 องศา ซึ่งอุณหภูมิเพิ่มไปแล้ว 1 องศา ดังนั้น จะเพิ่มได้ไม่เกินอีก 0.5 องศาเซลเซียส ซึ่งมีการประเมินว่ามีโอกาสเพียง 50% เท่านั้น นี่คือความเสี่ยงของมนุษย์โลก"
ความเสี่ยงในปี 2022
ในการประชุม World Economic Forum มองว่า ความเสี่ยงในปี 2022 สิ่งที่น่ากังวลที่สุดคือ ความล้มเหลวในการจัดการกับ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก นำมาซึ่งสภาพอากาศที่รุนแรง ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม แผ่นดินถล่ม เป็นประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่มีความสำคัญ ต่อความเป็นอยู่ของประชากรโลก และจัดเป็นความเสี่ยงของโลกในอันดับแรก
เกิดอะไรขึ้น เมื่อโลกอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1.5 องศา
สภาวะอากาศรุนแรง ความเสี่ยงน้ำท่วมเพิ่มขึ้น 100%
ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ประชากร 46 ล้านคน ได้รับผลกระทบจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น 48 เซนติเมตร ภายในปี 2100
น้ำที่ใช้ประโยชน์ได้ ประชากร 350 ล้านคน เผชิญภัยแล้ง ภายในปี 2100
สายพันธุ์ 6% ของแมลง 8% ของพืช และ 4% ของสัตว์มีกระดูกสันหลังได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง
เพราะฉะนั้น เรื่องนี้ประเทศไทย มีทางเลือก 2 ทาง คือ เดินช้ากว่าคนอื่น และ ก้าวนำคนอื่น ดังนั้น สิ่งที่นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศเจตนารมณ์ในการประชุม COP26 จะเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ปี 2050 และสู่การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2065
เพื่อให้ไปถึงจุดนั้น จำเป็นต้องปรับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกต่อประชาคมโลก (NDC) ลดก๊าซเรือนกระจก 20-25% ปี 2030 เป็น 40% บนพื้นฐานการได้รับการสนับสนุนทางการเงิน เทคโนโลยี และการสร้างขีดความสามารถ
ทั้งนี้ หลังจากการประชุม COP26 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้ร่วมกับทุกหน่วยงาน ปรับปรุงยุทธศาสตร์ระยะยาวในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและ Net Zero ใช้กรอบการทำงานวางเป้าหมายทุก 5 ปี ที่ต้องกำหนดเพิ่มเติม โดยครั้งต่อไปต้องส่งในปี 2025 จะเป็นเป้าหมายในปี 2035
ภาคพลังงาน ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 80%
“การจะเข้าสู่ความยั่งยืนทางสภาพภูมิอากาศ “ภาคพลังงาน” ที่ปล่อยเยอะที่สุด อาจจะต้องลดก๊าซเรือนกระจก 80% ขณะที่ "ภาคการเกษตร" ต้องลด 23% ชาวนามี 18 ล้านคน การเปลี่ยนผ่านเรื่องนี้ต้องใช้องคาพยพ ทำอย่างไรที่บริษัทใหญ่เปลี่ยนแปลง และองคาพยพ ซัพพลายเชน ภาคเกษตร ที่จะยกระดับคุณภาพขึ้นมา เพื่อลดการปล่อยมีเทน"
"และอีก 40% ต้องฝากทุกองค์กรในประเทศไทย หากจะไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนต้องเริ่มขยับขณะเดียวกัน กระทรวง ทส. จะดูในเรื่องของการดูดกลับคาร์บอนในส่วนของป่าไม้ ราว 120 ล้านตัน"
แนวทางการลดการปล่อย ก๊าซเรือนกระจก
ปี 2025 ไทยจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุดที่ได้คาดการณ์ไว้ 368 ล้านตัน และหลังจากปี 2030 รูปแบบการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยจะเหมือนกับประเทศพัฒนาแล้ว นี่คือ สิ่งที่จะต้องจับตามองในการบริหารจัดการ โดยมาตรการต่างๆ ได้แก่
พลังงาน/ขนส่ง
เพิ่มใช้พลังงานทดแทน
การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและใช้พลังงาน
การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยอียูระบุชัดเจนว่า รถสันดาปภายในปี 2035 จะไม่มีขายอีกต่อไป และไทยก็อยู่ในนโยบายเช่นกัน
ภาคกระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ (IPPU)
มาตรการทดแทนปูนเม็ด
การปรับเปลี่ยนสารทำความเย็น
เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) ในอุตสาหกรรมซีเมนต์
ของเสีย
การจัดการขยะและน้ำเสีย ชุมชน รวมถึงน้ำเสียอุตสาหกรรม
Waste to Energy
เกษตร
การปรับบำรุงการทำนาข้าวเพื่อลดการปล่อยมีเทน มีพื้นที่นำร่อง 6 จังหวัดในไทย
ผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์
ป่าไม้
การส่งเสริมปลูกป่าธรรมชาติ ป่าเศรษฐกิจ
เพิ่มพื้นที่สีเขียวในชนบท
กลไกขับเคลื่อนการดำเนินงาน
ดร.พิรุณ กล่าวต่อไปว่า ทั้งหมดไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้ ดังนั้น การปรับเปลี่ยนแนวคิดในเรื่องการทำงานร่วมกันเป็นเรื่องสำคัญ กระทรวง ทส. โดย ผส. ทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สิ่งที่ยืนยันได้คือ เราทำงาน 200% ในการร่วมกับทุกภาคส่วน ขับเคลื่อนสิ่งที่เป็นอุปสรรค ไม่ว่าจะสิทธิประโยชน์ ได้แก่
ทำงานร่วมกับ BOI
มาตรการด้านภาษี
ส่งเสริมการลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อม
การนำเข้าเครื่องจักรเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
การสร้างมูลค่าให้กับคาร์บอน
สร้างตลาดคาร์บอนโดยกลไกระดับชาติ แนวทางและกลไกการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต โดย สผ.
ระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนและการซื้อ การขาย และถ่ายโอนคาร์บอนเครดิต โดย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือน
ตลาดคาร์บอน โดย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ กระทรวง ทส.
ความท้าทายและปัจจัยหนุนสู่เป้า Net zero
ดร.พิรุณ มองว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง ทุกประเทศให้ความสำคัญ ประเทศไทยไม่มีทางเลือกที่จะทำงานช้าลง การทำได้เร็วคือ โอกาส สิ่งที่มากดดันอย่างปัจจัยภายนอก เช่น มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ที่บังคับใช้ 5 ผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่ ปูนซีเมนต์ ปุ๋ย เหล็ก อะลูมิเนียม และกระแสไฟฟ้า โดยจะเริ่มเก็บภาษีจริงในปี 2026
ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว มีมูลค่าการส่งออกกว่า 6,000 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา และอาจจะเพิ่มในเรื่องของกลุ่มสินค้าเคมีภัณฑ์และพลาสติก หรืออาจจะมีสินค้าเกษตรในอนาคต คนที่ก้าวช้า คนที่ไม่พร้อมย่อมได้รับผลกระทบ ดังนั้น ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ทุกภาคส่วน อยากเห็นคือ ความชัดเจนของนโยบายภาครัฐซึ่งวันนี้เรามีแล้ว เพราะเรานำเป้าหมายเข้าไปในแผนนโยบายทุกระดับ เพื่อสร้างความมั่นใจว่า หากวันนี้ประเทศไทยเดินหน้า เราไม่มีถอยหลัง
อีกทั้ง โครงการดักจับ และกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ CCS (Carbon Capture and Storage) มีความจำเป็น ถึงวันที่เรามีความเป็นกลางทางคาร์บอน ไม่ได้หมายความว่าเราไม่สามารถใช้ทรัพยากรของตัวเองได้ แต่หากเรานำ CCS นำมาใช้กับโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ เราก็สามารถเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนได้
“เรื่องของคาร์บอนเครดิต ขณะนี้มีการขับเคลื่อนอย่างจริงจังและสร้างมูลค่าเพิ่ม ไม่เกินปลายปีจะได้เห็น และสิ่งสำคัญคือ การสร้างความตระหนักรู้ การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือ การเปลี่ยนความคิด เปลี่ยนในสิ่งที่เราเคยชิน และขอให้เชื่อว่าการขับเคลื่อนของไทยในวันนี้ ของทุกภาคส่วน เริ่มได้จากตัวเรา หากเปลี่ยนพฤติกรรมได้ เราก็สามารถเป็นแรงผลักดันให้คนรอบเริ่มเปลี่ยนเป็นวงกว้าง นำไปซึ่งการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้” ดร.พิรุณ กล่าว